Schwangerschaft in Germany

Story by Sopaphon Kurz

Credit: Facebook Page เรื่องเล่าจากหย่งศรี

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังถือที่ตรวจการตั้งครรภ์อยู่ในมือและมีผลขึ้นเป็นสองขีด! คุณกำลังท้อง แถมยังเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีที่ไม่คุ้นเคยเอาเสียด้วย! คุณดีใจมากและสับสนมากในเวลาเดียวกันว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป!?

อย่าเพิ่งตื่นตระหนกค่ะ กรุณาหายใจเข้าลึกๆ สามครั้ง ผ่อนคลายตัวเองและเริ่มอ่านบทความนี้ หย่งศรีขออาสาพาคุณไปเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดในอีก ๙ เดือนข้างหน้านี้เองค่ะ

xxxxxxxxxx

อันดับแรกสุด หลังจากที่ตรวจพบว่าตัวเองท้อง หรือสงสัยว่าอาจตั้งท้องได้ เช่น ประจำเดือนไม่มาหลายวันแล้ว คุณควรไปพบหมอผู้หญิง (Frauenarzt/Gynaekologe) เพื่อตรวจยืนยันให้แน่ใจ

เมื่อคุณหมอตรวจพบชัดเจนแล้วว่าท้องจริง คุณหมอจะให้ Mutterpass หรือสมุดประจำตัวคุณแม่มา ซึ่งหมายความว่า เครื่องมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามีอีกชีวิตน้อยๆ อยู่ในท้องจริง คุณไม่ได้กำลังฝันไป คุณหมอจะคำนวณวันคลอดให้ด้วย เพื่อให้คุณเริ่มวางแผนสิ่งต่างๆ ได้ รวมทั้งประเมินหาวันที่คุณจะเริ่มหยุดงานได้ตามกฏหมาย (Mutterschutz) ด้วย

หลังจากนี้ คุณหมอจะนัดวันตรวจทุกเดือน และจะถี่ขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทุกครั้งที่ไปตรวจ ต้องเอา Mutterpass ไปด้วยนะคะ ขาดไม่ได้เลย

ไตรมาสแรก // ตั้งครรภ์เดือนที่ 1 – 3

ในไตรมาสแรกนี้ เป็นช่วงที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งสูงกว่าช่วงอื่นๆ งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นพบว่า 20% ของการตั้งครรภ์ที่ได้รับการยืนยันแล้วจบลงด้วยการแท้ง

แต่ว่าที่คุณแม่ไม่ควรเป็นกังวลในเรื่องนี้ให้มาก การตั้งครรภ์เป็นกลไกทางธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ หากการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ร่างกายจะขับตัวอ่อนออกมา ซึ่งการแท้งลักษณะนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่มีอิทธิพลควบคุมได้เลย

นอกจากนั้นว่าที่คุณแม่ยินดีได้เลยว่า จากสถิติแล้ว 95% ของผู้หญิงที่แท้ง สามารถตั้งครรภ์ได้อีกและให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์ได้ในที่สุด

สำหรับว่าที่คุณแม่ที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป (รวมทั้งว่าที่คุณแม่ที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไปด้วย) ในช่วงสัปดาห์ที่ 12-13 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะแนะนำให้ไปตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมลูก กล่าวคือ ตรวจหาโอกาสความเสี่ยงในการเป็นดาวน์ซินโดรม (ปัญญาอ่อน) และความผิดปกติทางกรรมพันธุ์อื่นๆ

หลายท่านอาจเป็นกังวลว่าต้องเจาะถุงน้ำคร่ำใช่หรือไม่ ต้องเรียนว่าปัจจุบันเครื่องมือแพทย์ทันสมัยและวิทยาการก้าวหน้าไปมาก ในเบื้องต้นนั้น เพียงแค่ตรวจเลือด ใช้เครื่องอุลตราซาวด์ที่มีกำลังขยายสูงสแกนดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายตัวอ่อน ก็สามารถคำนวณอัตราความเสี่ยงได้แล้วค่ะ

แต่หากตรวจเบื้องต้นลักษณะนี้แล้วยังได้ผลที่ไม่ชัดเจน คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม ซึ่งก็คือการเจาะถุงน้ำคร่ำจริงๆ

การตรวจนี้เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (ประกันไม่จ่าย) ดังนั้นเราจะไม่ตรวจก็ได้ แต่คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำ เพื่อที่ว่าหากตรวจแล้วพบว่าลูกของเรามีอัตราเสี่ยงที่จะผิดปกติสูง เราจะได้มีเวลาคิดตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ในไตรมาสแรกนี้ คุณหมอหลายท่านอาจแนะนำให้ว่าที่คุณแม่ทานวิตามินเสริม หากไม่มั่นใจว่าตัวเองกินอาหารได้ครบทุกหมู่ทุกวัน หย่งศรีเคยถามคุณหมอว่า จำเป็นจริงๆ หรือไม่?

คุณหมอตอบว่า ฉันรู้จักว่าที่คุณแม่ ที่กินวันเว้นวันหรือไม่กินเลย และลูกของพวกเขาก็ออกมาแข็งแรงดี เพราะฉะนั้น มันอาจจะมีเรื่องของการตลาดอยู่ด้วย แต่ในฐานะที่ฉันเป็นหมอ ฉันก็มีหน้าที่แนะนำ ส่วนคุณจะซื้อมากินหรือไม่ จะเลือกยี่ห้อไหน เพราะมีตั้งแต่ราคาถูก กลาง ไปจนถึงแพง คุณต้องตัดสินใจเอาเอง

ไตรมาสสอง // ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 – 6

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสอง ว่าที่คุณแม่จะได้ความสบายใจหนึ่งเรื่องคือ ความเสถียรของครรภ์ ว่าลูกอยู่กับเราแน่ ไม่หลุดง่าย ไม่เปราะบางเหมือนในไตรมาสแรก จะเดินทางก็ไม่น่าเป็นห่วง และอาการแพ้ก็ทุเลาลงแล้ว จะเป็นช่วงที่ว่าที่คุณแม่มีความสุขมาก ท้องที่อาจจะเริ่มยื่นออกมาเล็กน้อย เป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวเล็กเติบโตมากขึ้น

และไตรมาสสองนี้เอง เป็นช่วงที่ว่าที่คุณแม่ต้องเริ่มเตรียมตัวหลายสิ่งหลายอย่าง หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนท้องในเยอรมนี ก็คือการหาผดุงครรภ์ หรือ Hebamme (เฮบ-อัม-เม่อ)

ก่อนจะไปต่อ ต้องขออธิบายความแตกต่างระหว่างระบบการคลอดที่ไทยกับเยอรมนีเสียก่อนค่ะ

ที่ประเทศไทยโดยส่วนใหญ่นั้น เมื่อเรารู้ตัวว่าท้อง เราจะไปฝากครรภ์กับคุณหมอที่เรามั่นใจในฝีมือ คุณหมออาจจะประจำอยู่ที่คลีนิคหรือโรงพยาบาล ซึ่งหากเป็นอย่างแรก คุณหมอจะไปทำคลอดที่โรงพยาบาลไหน เราก็ต้องไปตามนั้น ส่วนตลอดการตั้งครรภ์ เราก็ต้องไปหาคุณหมอที่คลินิคหรือโรงพยาบาลที่คุณหมอประจำอยู่ และคุณหมอจะเป็นคนทำคลอด/ผ่าคลอดให้เราในวันจริง

ที่เยอรมนี ผู้ที่จะมีบทบาทตลอดช่วงการตั้งครรภ์ของเราคือหมอผู้หญิง การตรวจต่างๆ จะเกิดที่คลินิคของหมอผู้หญิง (ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่เราไปตรวจร่างกายประจำปี เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก)

แต่เวลาคลอด เราจะไปคลอดที่โรงพยาบาล ดังนั้น การเลือกโรงพยาบาลที่เราจะไปคลอด จะไม่ต้องคำนึงถึงคุณหมอผู้หญิงเลย ขอให้เลือกโรงพยาบาลที่เราพอใจมากที่สุดเป็นพอ (อ่านเรื่องการเลือกโรงพยาบาลได้ในหัวข้อไตรมาสสาม)

เมื่อถึงเวลาคลอด คนที่จะช่วยทำคลอดให้เรา คือ ผดุงครรภ์ประจำโรงพยาบาลนั้นๆ พวกเขาคือคนที่จะมาช่วยบอกท่า บอกให้เบ่ง และสารพัดสิ่งอันที่จะช่วยให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วที่สุด ส่วนคุณหมอผู้หญิงประจำโรงพยาบาลจะมาเกี่ยวข้องในลำดับสุดท้าย คือเพื่อเย็บแผล

หลังจากพักฟื้นจนหายเหนื่อยและได้กลับบ้าน เราสามารถใช้บริการของผดุงครรภ์ (มักจะเป็นคนละคนกับคนที่ช่วยทำคลอด) ที่จะมาดูแลแผลเรา ช่วยสอนเราว่าให้นมลูกยังไง อาบน้ำลูกอย่างไร ฯลฯ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้หญิงที่ท้องทุกคนจะได้รับ (ประกันจ่าย) แต่เขาไม่ได้มาเอง เราต้องเป็นฝ่ายหา

ขอแนะนำว่าให้หาตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มรู้ตัวว่าท้องเลยทีเดียว เนื่องจากทุกวันนี้จำนวนผดุงครรภ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะ เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่มากนัก เมื่อมีจำนวนน้อยจึงเป็นที่ต้องการสูง ผดุงครรภ์ที่มีลูกค้าคุณแม่ท้องเยอะเต็มมือแล้ว จะไม่รับคนใหม่ หรือไม่ว่างที่จะมาดูแลเรา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องรีบหา...

เท่าที่สอบถามคุณแม่ทั้งหลาย เรามักไม่มีโอกาสได้เลือกผดุงครรภ์นัก เนื่องจากผดุงครรภ์เป็นของหายาก เราโทรติดต่อไปตั้งหลายคน แต่ไม่มีใครโทรกลับ ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนโทรกลับมา เรามักจะเอาคนนั้นเลย

แต่หากว่าที่คุณแม่มีตัวเลือกมากกว่าหนึ่ง เกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกก็คือ คนที่เราคุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจมากที่สุด เพราะเขาคือคนที่จะช่วยเราในวันที่เราอ่อนแอ เจ็บแผล ยังงงและมึนจากการคลอด ทำอะไรไม่ถูกกับลูกน้อย ถ้าคุยด้วยแล้วไม่ถูกใจ รู้สึกว่าเคมีไม่ตรงกัน ก็คงไม่ใช่ค่ะ

ข้อที่น่าพิจารณาอีกอย่างก็คือ ถ้าบ้านของผดุงครรภ์อยู่ไม่ไกลจากเรา ก็จะดีมาก เพราะเขาจะเดินทางมาหาเราได้อย่างไม่ลำบาก (จูงใจให้เขาอยากรับเราเป็นลูกค้าด้วย) เราเองก็สบายใจด้วยว่าถึงตอนที่เราต้องการเขา เขาก็จะมาหาเราได้โดยไม่ยากนัก

นอกจากนั้น หากว่าที่คุณแม่อยากให้ผดุงครรภ์ที่ทำคลอดกับคนที่ดูแลหลังการคลอดเป็นคนเดียวกันก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ โดยสอบถามผดุงครรภ์โดยตรงได้เลย เพียงแต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลด้วย ดังนั้น ตัวเลือกของผดุงครรภ์ลักษณะนี้มีไม่มากนักในแต่ละเมือง

เมื่อหาผดุงครรภ์ได้แล้ว ในระหว่างที่ท้องอยู่ ผดุงครรภ์จะแวะมาเยี่ยม สอบถามข้อมูล ตรวจดูครรภ์ และมดลูก (หากต้องการ) ให้ได้ด้วย รวมทั้งให้คำแนะนำในการเตรียมตัวคลอด ข้าวของที่ต้องใช้ ฯลฯ

ผดุงครรภ์บางคนอาจมีความสามารถพิเศษ เช่น นวด ฝังเข็ม เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างง่ายดาย ฯลฯ บริการเสริมเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวผดุงครรภ์ว่าจะคิดค่าใช้จ่ายหรือไม่ และว่าที่คุณแม่ก็สามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะรับบริการหรือไม่

การเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของลูก

คนไทยจำนวนไม่น้อยถือว่า การซื้อของสำหรับลูกน้อยเตรียมไว้ก่อนจะเป็นลางไม่ดี แต่หากอาศัยอยู่ที่เยอรมนี การยึดถือความเชื่อนี้คงไม่ดีแน่ เพราะที่เยอรมนีไม่สะดวกสบายเหมือนกับที่เมืองไทยที่จะไปห้างเมื่อไรก็ได้

ที่เยอรมนี เมืองเล็กใหญ่ตั้งอยู่กระจัดกระจาย ห้างสรรพสินค้าไม่ได้มีข้าวของทุกสิ่งอันให้ได้เลือก หรือถ้ามีที่ถูกใจ แต่อาจจะไม่ใช่ไซส์ หรือสีที่ต้องการ ต้องสั่ง ต้องรอ ยิ่งหากลูกน้อยเกิดในหน้าหนาว หากไม่ซื้อเตรียมไว้บ้าง รอให้ลูกเกิดก่อนแล้วค่อยแบกสังขารตัวเองและลูกฝ่าลมหนาวและหิมะไปซื้อ คงจะไม่ไหวแน่

เมื่อตกลงใจว่าจะซื้อของเตรียมไว้ ว่าที่คุณแม่อาจจะ “มึน” กับรายการสารพัดสิ่งของต้องซื้อที่ดูจะมากมายมหาศาลเหลือเกิน ขอสรุปให้ว่า สิ่งที่จำเป็นลำดับต้นๆ มีดังนี้

รถเข็นเด็ก (Kinderwagen): ที่เยอรมนีนิยมให้พาลูกน้อยออกมาเดินรับอากาศบริสุทธิ์ พวกเขาเชื่อว่าเด็กจะแข็งแรงต้องได้เจอกับอากาศธรรมชาติ ไม่ว่าอากาศจะหนาวเพียงใด ลูกจะตัวเล็กตัวแดงอย่างไร ก็ต้องเอาออกไปเดิน ขอให้ห่อลูกให้อุ่นๆ เข้าไว้เป็นพอ

สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ไลฟ์สไตล์ของว่าที่คุณพ่อคุณแม่ กล่าวคือ เราจะเข็นรถลูกไปที่ไหนเป็นประจำ? จะเข้าเมืองบ่อยไหม? ต้องขึ้นรถไฟใต้ดินบ่อยไหม? จะไปเดินป่าหรือเปล่า? จะเลือกแบบที่ปรับจากตะกร้าเป็นที่นั่งได้ด้วยเมื่อลูกโตขึ้น หรือจะซื้อแยกต่างหาก? ฯลฯ

เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถเลือกรถเข็นที่เหมาะกับเราและลูกได้

ที่นั่งของเด็กในรถ (Autositz): ไม่ว่าคุณจะขับรถหรือไม่ ก็ต้องมี เพราะต้องใช้ตอนพาลูกออกจากโรงพยาบาลครั้งแรก แม้จะนั่งแท็กซี่กลับบ้าน ก็ต้องมีค่ะ

เตียงเด็ก (Kindersbett): มีทั้งเตียงมาตรฐาน และเตียงต่อข้างสำหรับทารกแรกเกิด (Beistellbett) ซึ่งเป็นตัวเลือกที่อำนวยความสะดวกให้คุณแม่ ว่าไม่ต้องลุกไปดูลูกตอนกลางคืน หากลูกร้อง สามารถให้นมได้เลยทันที รวมทั้งได้อยู่ใกล้ชิดกันด้วย

โต๊ะ/ตู้ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม (Wickelkommode): ที่เยอรมนี คุณแม่ทั้งหลายนิยม “ยืน” เปลี่ยนผ้าอ้อมลูกบนที่เปลี่ยนผ้าอ้อม นัยว่าคุณแม่จะได้ไม่ปวดหลัง บางคนอาจจัดที่เปลี่ยนไว้ติดกับที่อาบน้ำลูกเลย อย่างไรก็ดี หากว่าที่คุณแม่ถนัดที่จะนั่งเปลี่ยน ก็สามารถทำได้เช่นกัน

รวมไปถึงของใช้จำเป็น เช่น เสื้อผ้า ขวดนม ผ้าอ้อม แพมเพิร์ส ครีม โลชั่น ฯลฯ

ทั้งนี้ว่าที่คุณแม่อย่าลืมสมัครเป็นสมาชิกของร้านขายของเครื่องใช้สำหรับเด็ก เช่น Rossmann, dm เพื่อรับของขวัญต้อนรับลูกน้อย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สำหรับว่าที่คุณแม่ และทารกตัวน้อยมาลองใช้ได้ด้วยนะคะ

นอกจากนั้น หากลงทะเบียนตัวเองและลูก ที่เว็บของใช้เด็กอย่าง pampers.de และโชคดีก็อาจจะได้เป็นผู้ทดลองผลิตภัณฑ์ ได้แพมเพิร์สเด็กมาใช้ฟรีตลอดระยะการทดลอง ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว

แล้วจะไปซื้อที่ไหนดี?

หากสนใจของใหม่ มือหนึ่ง ให้พุ่งตรงไปที่ร้านค้าขายของเด็ก ห้างสรรพสินค้า และร้านขายเฟอร์นิเจอร์เลยค่ะ

หากเป็นเสื้อผ้าเด็ก ยี่ห้อมาตรฐาน ราคารับได้ ก็มีทั้งที่ร้าน C&A,H&M, Zara ฯลฯ แบบน่ารักๆ เยอะมาก เลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว หรือจะรอสินค้าราคาถูกใจ คุณภาพก็ใช้ได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตราคาประหยัด เช่น Aldi, Lidl, Penny (รวมถึงร้านกาแฟอย่าง Tchibo ด้วย)

แต่ต้องบอกเลยว่า หากมีของที่อยากได้จริงๆ ว่าที่คุณแม่ต้องตื่นเช้าไปรอซูเปอร์เปิดเลยค่ะ มิเช่นนั้น อาจไม่ได้ของที่ต้องการ เพราะคนรอซื้อกันเยอะมาก

นอกจากนั้น ทางเลือกบนอินเตอร์เน็ทก็มีมากมาย babywalz, babyone, tausandkind, limango ฯลฯ เลือกเพลินเกินห้ามใจ

แต่หากว่าที่คุณพ่อคุณแม่สนใจของมือสอง ก็มีทางเลือกบนอินเตอร์เน็ท คือ ebay ซึ่งมีสารพันทุกสิ่งอัน หรือรอไปตลาดนัดของใช้เด็กมือสอง (Kinderflohmarkt) ตามโรงเรียนอนุบาลในละแวกบ้าน บางพื้นที่จะมีเว็บไซต์แจ้งลิสต์ของตลาดนัดของเด็กมือสองไว้เลย เช่นแถบ Taunus รวบรวมไว้ที่เว็บ www.taunus-basare.de

ฤดูกาลตลาดนัดของมือสองเสื้อผ้า ของเล่น ของใช้เด็ก จะมีปีละ 2 หน คือ ช่วงฤดูใบไม้ผลิจะขายของหน้าร้อน และฤดูใบไม้ร่วงจะขายของหน้าหนาว และแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่แยกประเภทแล้ว (sortiert) กับแบบเจ้าของมาขายเอง (selbsverkauft)

แบบแยกประเภทแล้ว ก็คือ คนขายเอาของมาส่งให้ผู้จัด ซึ่งมักจะเป็นโบสถ์หรือโรงเรียนอนุบาล ของทุกอย่างจะถูกแยกไว้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน เช่น อยากได้ของเล่นก็ตรงไปที่ของเล่นได้เลย หรือต้องการเสื้อผ้าขนาดใด ก็จะถูกจัดไว้เรียบร้อย ของแต่ละชิ้นจะมีป้ายเบอร์คนขายติดไว้ พร้อมกับราคา ถูกใจอันไหนก็หยิบมาจ่ายเงิน

แบบเจ้าของมาขายเอง คือผู้ชายเช่าพื้นที่ เสียค่าโต๊ะ/ที่ แล้วขายตามสะดวกใจ สอบถามราคาและต่อรองกันได้ เช่น ซื้อเยอะๆ แม่ค้าก็ลดให้ค่ะ แต่ไม่ได้ต่อหน้าดำหน้าแดงแบบเมืองไทยนะคะ ดูเขาไม่ค่อยบอกผ่านกัน

หากรักจะไปตลาดนัดมือสอง ขอแนะนำให้ไปก่อนเวลาสักนิดเพื่อรอเข้า เพราะคนจะมาหาเลือกซื้อของเยอะมาก ไปตอนท้าย ตลาดจะวายแล้ว จะได้แต่ของเหลือเลือกค่ะ และว่าที่คุณแม่ควรถือ Mutterpass ติดมือไปด้วย ตลาดนัดมือสองส่วนมากจะอนุญาตให้คุณแม่ท้องเข้าก่อนเวลาเปิดจริงได้ครึ่งชั่วโมง

การเตรียมพร้อมสำหรับคุณแม่

ในด้านการเตรียมพร้อมทางร่างกาย คุณแม่อาจเลือกไปเข้าคอร์สโยคะสำหรับคนท้อง หรือว่ายน้ำสำหรับคนท้อง ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายเส้นสายที่อาจตึงจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นและสรีระที่เปลี่ยนไป

ในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการท้องและคลอด วิธีการรับมือกับความเจ็บปวดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังคลอด หมอและผดุงภรรภ์ทั้งหลายจะแนะนำให้ว่าที่คุณแม่ไปเข้าคอร์สเตรียมตัวคลอด (Geburtsvorbereitungkurs) ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบเช่น แบบเร่งรัด (เสาร์-อาทิตย์) หรือแบบธรรมดาสำหรับคนทำงาน (ทุกเย็นวันหนึ่งๆ ในสัปดาห์ 4-5 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน)

นอกจากนั้น หลายคู่นิยมไปเข้าคอร์สนี้เป็นคู่ๆ เพื่อให้ว่าที่คุณพ่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของว่าที่คุณแม่ รวมทั้งจะได้สามารถทำตัวได้ถูกเมื่อถึงวันคลอดด้วย

การไปเข้าคอร์สเหล่านี้ นอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงกับตัวว่าที่คุณแม่แล้ว ยังมีผลดีทางด้านสังคมด้วย กล่าวคือ ว่าที่คุณแม่จะได้เจอคุณแม่ท้องท่านอื่นๆ เปิดโอกาสให้ได้แลกแปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงเป็นโอกาสให้ได้ทำความรู้จัก พัฒนาความสัมพันธ์ ทำให้ลูกได้มีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกันในอนาคตด้วย

ไตรมาสสาม // ตั้งครรภ์เดือนที่ 7-9

ตอนนี้ท้องคุณแม่โตแล้วค่ะ เห็นชัดแล้วว่าท้อง ตอนนี้จะหาเสื้อผ้าคุณแม่ท้องมาใส่อวดพุงสวย พร้อมกับถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็คงไม่แปลก เพราะเราคงไม่ได้มีสัดส่วนแบบนี้บ่อยครั้งในชีวิต

ในช่วงท้าย จะเริ่มอึดอัด ลุกนั่งลำบาก เวลานอนจะพลิกตัวก็ลำบาก แถมยังตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยด้วย เพราะครรภ์ใหญ่มากจนกดกระเพราะปัสสาวะ แต่นั่นก็หมายความว่า อีกไม่นาน ว่าที่คุณแม่ก็จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยแล้ว

เบาหวานตอนท้อง (Gestationdiabetes)

คุณหมอผู้หญิงจะนัดตรวจเบาหวานที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ตอนประมาณสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ หากผลปรากฏว่าเป็น คุณหมออาจส่งตัวไปให้พบกับคุณหมอด้านเบาหวานโดยตรง เพื่อให้ควบคุมอาหาร/ระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ

ในรายที่เป็นมาก อาจต้องฉีดอินซูลินทุกวันเพื่อควบคุม การควบคุมนี้สำคัญมาก หากไม่คุมให้ดี ลูกมีโอกาสเป็นเบาหวานตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตของลูกน้อยตลอดทั้งชีวิต

แต่หากตรวจพบว่าเป็น คุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ นี่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้ในการตั้งครรภ์ โดยมากแล้วเบาหวานจะหายไปหลังจากการคลอดลูก แต่คุณแม่ก็ควรจะตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วยค่ะ

เลือกโรงพยาบาล

หากว่าที่คุณแม่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก มีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นประเด็น แต่หากเป็นเมืองใหญ่ มีโรงพยาบาลหลายแห่งให้เลือก ก็สามารถไปดูโรงพยาบาลพร้อมรับฟังข้อมูลตามวันที่โรงพยาบาลเปิดให้เข้าชมได้ (หาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาล) ซึ่งโดยมากจะจัดทุกเดือน

ปัจจัยที่ควรพิจารณา ได้แก่ ระยะทางจากที่บ้าน, คลีนิคฉุกเฉินสำหรับเด็กเล็ก (ในกรณีที่การตั้งครรภ์มีความซับซ้อน แต่หากการตั้งครรภ์ปกติดีทุกอย่างข้อนี้ก็อาจไม่จำเป็น) ความสะอาด, ความสบายใจเมื่อได้เห็นเจ้าหน้าที่, ห้องพักสำหรับครอบครัว (โดยปกติเราจะได้พักห้องพักเตียงคู่ แต่หากต้องการความเป็นส่วนตัว อาจถามถึงห้องครอบครัว - Familienzimmer) ฯลฯ

เมื่อตัดสินใจเลือกได้แล้ว ก็ต้องไปสมัครที่โรงพยาบาล เป็นการแจ้งทางโรงพยาบาลว่าเราตั้งใจจะมาคลอดที่นี่ กำหนดการรับสมัครของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกันไป คือ บางแห่งรับสมัครตั้งแต่สัปดาห์ที่ 32 แต่บางแห่งอาจรับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 34/35 ของการตั้งครรภ์

เลือกวิธีคลอด

ปัจจุบันที่ประเทศไทย หมอส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผ่าคลอด เพื่อลดความเสี่ยง ความเจ็บปวด รวมทั้งได้ฤกษ์อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ แถมยังสะดวกคุณหมอ ไม่ต้องมารอเป็นชั่วโมงเป็นวันกว่าเจ้าตัวเล็กจะออกมาดูโลก

แต่ที่เยอรมนี คนส่วนใหญ่นิยมให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าคุณหมอจะแนะนำให้คลอดเอง ยกเว้นในกรณีที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนจนต้องผ่า แต่หากว่าที่คุณแม่กลัวความเจ็บปวดจริงๆ ต้องการผ่าคลอดเท่านั้น ก็ต้องลองคุยกับคุณหมอที่โรงพยาบาล และยืนยันหนักแน่นในทางเลือกของตัวเอง

ปัจจุบันตัวเลขของผู้ที่ผ่าคลอดในเยอรมนีอยู่ในราว 30 % และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากว่าที่คุณแม่กลัวความเจ็บปวดนี่ล่ะคะ

ส่วนการคลอดเองนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าคุณแม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดแบบไม่มีทางเลือก ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีตัวช่วยหลายอย่างให้เลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบล็อกหลัง (Periduralanaesthesie – PDA) ซึ่งจะลดความเจ็บปวดไปได้เกือบทั้งหมด

หากว่าที่คุณแม่สนใจตัวช่วยนี้ ต้องแจ้งทางโรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะก่อนที่แพทย์จะลงมือบล็อกหลังให้ได้ จะต้องอ่านเรื่องความเสี่ยงทั้งหลายให้ฟัง แล้วให้ว่าที่คุณแม่เซ็นต์ยอมรับ หากรอไปถึงตอนที่ปวดท้องคลอดแล้ว แล้วจะต้องมาอ่านและเซ็นต์ คงจะไม่รู้เรื่องแน่

ทางที่ดี ควรแจ้งตั้งแต่ตอนที่ไปสมัครคลอดว่าสนใจการบล็อกหลัง และเซ็นต์ยอมรับไว้เลย ส่วนในวันคลอดจริง จะบล็อกหลังหรือไม่ คุณแม่ยังมีสิทธิเลือกได้อีกค่ะ

นอกจากนั้น แม้จะเซ็นต์เอกสารแล้ว แต่เมื่อเจ็บท้องคลอดและไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ต้องกำชับผดุงครรภ์ที่ดูแลเราอยู่เรื่อยๆ ด้วยว่าต้องการบล็อกหลัง เพราะบางทีผดุงครรภ์อาจยุ่ง วุ่นและลืม มาดูอีกทีก็สายเกินไปที่จะบล็อกแล้ว

กล่าวคือ หมอที่เยอรมนีจะบล็อกหลังให้เมื่อแน่ใจว่าจะเกิดการคลอดขึ้นจริงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า (ปากมดลูกเริ่มเปิดมากกว่า 3 ซม.) แต่เมื่อปากมดลูกเปิดไปจนถึง 8-10 ซม. แล้ว ก็จะไม่บล็อกหลังให้ เพราะอีกไม่นานก็จะคลอดแล้ว นัยว่า กว่าจะบล็อกเสร็จ กว่ายาจะเริ่มออกฤทธิ์ เด็กก็ออกมาดูโลกแล้ว

xxxxxxxxxx

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ สำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ในเยอรมนี ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากที่สามารถหาอ่านได้จากเอกสารแจกฟรีจากทางการเยอรมัน ซึ่งจะพบได้ตามคลีนิคคุณหมอผู้หญิง และโรงพยาบาลในแผนกสูตินรีเวช รวมไปถึงเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย

สุดท้ายนี้ หย่งศรีขอเป็นกำลังใจให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกท่านผ่านช่วงเวลา ๙ เดือนอันน่าระทึกใจนี้ไปได้อย่างสุขสบายหายห่วง ขอให้เจ้าตัวเล็กแข็งแรง และว่าที่คุณพ่อคุณแม่สนุกกับการเตรียมตัวพร้อมรับชีวิตใหม่ที่จะมาเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปนะคะ

ส่วนคุณแม่ในประเทศอื่นๆ หากจะมาแบ่งปันประสบการณ์กันบ้างว่า การเตรียมตัวแตกต่างออกไปหรือไม่ อย่างไร ก็จะยินดีมากเลยค่ะ

 
 

 

 

รายงานสรุปการประชุมสามัญประจำปี 2020
รายงานสรุปการประชุมสามัญปี 2020.pdf
PDF-Dokument [309.2 KB]
THARA Magazin 2019
THARA_Magazin revised_3.pdf
PDF-Dokument [17.7 MB]
เอกสารเผยแพร่การประชุม สามัญประจำปี 2018
เอกสารเผยแพร่.pdf
PDF-Dokument [2.0 MB]
Thara Magazin 06.06.2018 final.pdf
PDF-Dokument [38.3 MB]
Druckversion | Sitemap
© Thara e.V. 2021