Arbeiten als Krankenschwester in Deutschland (งานพยาบาลในเยอรมนี)

เขียนและเรียบเรียบโดย: สุชาดา เบเยอร์

 

งานพยาบาลในเยอรมนี เนื่องจากมีผู้ถามมาว่ามาทำงานที่เยอรมนีนั้น เป็นไปได้ไหม

เรื่องเก่า ที่เคยเขียนไว้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2016 เอามาเล่าใหม่นะคะ

อาชีพที่กำลังขาดแคลนในประเทศเยอรมนี คือ อาชีพพยาบาลทั่วไปและพยาบาลผู้สูงอายุ น้องๆ หลายคนคงติดตามข่าวจากประเทศไทยหรือจากเพื่อนๆ เรื่องการมาทำงานพยาบาลที่เยอรมันระยะนึงแล้วว่า มีการจัดหางานโดยที่น้องไม่ต้องติดต่อเอง น้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนเท่านั้น

ความฝันที่จะทำงานเก็บเงินสร้างครอบครัว พี่ก็คิดว่าเป็นเรื่องดีและมีความเป็นไปได้ค่ะ

แต่ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ จากผืนแผ่นดินไทยไป น้องๆ ไม่ควรประมาท เพราะเราไม่ได้โชคดี และเจอในสิ่งดีๆ กันหมดทุกคน

โดยเฉพาะน้องที่จบพยาบาลมาแล้วจะมาทำงานในบ้านพักคนชรา หรือในโรงพยาบาลที่เยอรมนีนั้น น้องต้องผ่านกระบวนการเทียบวุฒิพยาบาลให้ได้ก่อน

ในขั้นตอนการการจัดหางานนั้น น้องอาจได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทจัดหางานซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานให้น้องและให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะเดินทางมาประเทศเยอรมนี ดังนี้

  • ทางบริษัทจัดหางานจะเป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวกตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมขอวีซ่าและเอกสารที่ต้องใช้ ซึ่งแน่นอนว่าการจัดการต่างๆ ก็ต้องมีค่าตอบแทน ไม่มีบริษัทไหนทำธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งทางบริษัทอาจได้รายได้จากโรงพยาบาล หรือจากน้องพยาบาลเอง
  • ก่อนที่จะดำเนินการ บริษัทจัดหางานจะต้องได้รับการมอบอำนาจจากน้อง ให้เป็นผู้ต่อรอง ดูแล และจัดการเอกสารต่างๆ ของทางฝ่ายเยอรมัน เช่น สัญญาจ้างจากโรงพยาบาล ใบรับรองจากหน่วยงานที่ตรวจสอบการเทียบวุฒิ Regierungspräsidium และใบอนุญาตเข้ามาฝึกงานเพื่อการเทียบวุฒิจากหน่วยงานจัดหางานของรัฐ Bundesagentur für Arbeit ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่จะอนุมัติและตรวจว่าน้องได้เข้ากระบวนการเทียบวุฒิจริง
  • บริษัทจัดหางานจะต่อรองเรื่องสัญญาจ้างและสวัสดิการเพื่อนำสัญญาจ้างนี้มาให้เราเซ็น และนำไปใช้ดำเนินการขอวีซ่า ซึ่งในสัญญาจะระบุถึงสวัสดิการต่างๆ ของนายจ้าง รายได้ที่น้องจะได้รับในช่วงการฝึกงานซึ่งต้องพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้

ข้อควรระวัง

  1. ให้คิดเสมอว่า การเซ็นใบมอบอำนาจ คือความไว้ใจให้บริษัทดูแลต่อรองทุกอย่างกับหน่วยงานและโรงพยาบาล ควรมั่นใจว่าบริษัทนั้นๆ จะรักษาผลประโยชน์ให้เราอย่างแท้จริง ไม่เห็นแก่ได้ เคยมีกรณีเกิดปัญหา น้องพยาบาลไม่สามารถติดต่อขอเอกสารของตัวเองจาก Regierungspräsidium ได้ เพราะเซ็นมอบอำนาจให้บริษัทหางานเป็นผู้ติดต่อไปแล้ว น้องต้องเขียนจดหมายยกเลิกการมอบอำนาจไปยังหน่วยงานก่อน ก่อนที่จะติดต่อหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตัวเองได้
  2. เอกสารจ้างงานทุกฉบับที่เราจะเซ็นที่เมืองไทย ควรจะมีภาษาไทยประกอบเสมอ และควรแปลจากล่ามที่ได้รับการรับรองด้วยนะคะ ที่ผ่านมา มีกรณีที่บริษัทหางานทำสัญญาจ้างงานร่วมกับโรงพยาบาลฉบับที่สองให้น้องเซ็น เมื่อน้องมาถึงเยอรมนีแล้ว โดยที่มีเนื้อหาและสวัสดิการไม่เหมือนฉบับแรก เมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่รู้ว่าจะเอาผิดใครเพราะเราเซ็นรับสัญญาเอง ไม่มีสวัสดิการตามที่ตกลง ไม่อำนวยต่อการเทียบวุฒิ ซึ่งหากน้องๆ มาถึงเยอรมนีแล้ว มาเจอสัญญาฉบับที่สองนี้ น้องอาจจะไม่มีทางเลือก เพราะกลับไทยก็ไม่ได้ ทิ้งอนาคตที่ไทยไปทุกอย่างแล้ว จำใจต้องฝึกงานโดยได้ค่าแรงน้อยหรือมีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น หรือถูกเอาเปรียบทางแรงงานได้

ดังนั้น ก่อนเซ็นเอกสารทุกอย่าง ต้องมั่นใจว่าเข้าใจอย่างถ่องแท้

เรื่องสำคัญอันดับสอง คือ ประเภทของวีซ่า

ขอให้พยาบาลทุกท่านทำความเข้าใจว่า ระหว่างที่เรามาเทียบวุฒิและเซ็นสัญญาจ้างงานต่างๆ ตามกฏหมายไม่ได้ถือว่าน้องเป็นแรงงานพยาบาล เพราะน้องมาด้วยวีซ่าเทียบวุฒิ ไม่ใช่วีซ่าทำงานนะคะ

สมัยก่อนอาจมีวีซ่ามาเรียนภาษาก่อน (§ 16b) แล้วเราขอเปลี่ยนเป็นวีซ่าเทียบวุฒิได้ (§ 17a AufenthG) แต่พี่ไม่ใช่นักกฏหมาย เลยไม่ได้ติดตามค่ะว่าปัจจุบันเค้าอนุโลมให้เปลี่ยนประเภทวีซ่าได้หรือไม่

ดังนั้น น้องต้องสังเกต วีซ่าของน้องให้ดีๆ ว่าในนั้นเขียนว่าอย่างไร เป็นวีซ่าประเภทไหน เรามีเวลาอยู่ที่เยอรมนีนานเท่าไรนะคะ

ถึงจะมีสัญญาจ้างงานรองรับ แต่หากน้องยังไม่ได้รับการรับรองวุฒิอย่างเป็นทางการ น้องก็จะมีปัญหาในการต่อวีซ่าได้ ซึ่งปกติวีซ่าเทียบวุฒินี้มีอายุที่จำกัดแค่เพียง 18 เดือน

ดังนั้นภายใน 18 เดือนน้องต้องเรียนให้มากที่สุด เทียบวุฒิให้ได้ ตามที่ Regierungspräsidium ในเขตที่น้องอยู่เค้ากำหนดไว้

อ่านข้อกำหนดให้บ่อยที่สุด เพื่อเตือนตนเองว่าเราต้องฝึกงานหรือสอบในวิชาไหนเพิ่มเติมบ้าง หากโรงพยาบาล ขอให้เราอยู่ต่อที่แผนกที่ขาดคน น้องต้องทราบว่า เวลาของน้องมีจำกัดหรือไม่ สามารถฝึกงานที่ใดเกินที่ Regierungspräsidium กำหนดหรือไม่ เรื่องนี้น้องต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ตนเอง ไม่ควรไว้ใจบริษัทจัดหางานไปหมดทุกอย่างค่ะ

ข้อควรคิด

เคยมีบริษัทจัดหางานเกลี้ยกล่อมให้น้องพยาบาลที่กำลังเทียบวุฒิคนหนึ่งที่ย้ายตามครอบครัวมาอยู่เยอรมนี ให้ทำงานในแผนกที่โรงพยาบาลขาดคน โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นของน้องคนนี้ จนน้องรู้ตัวว่าถูกเอาเปรียบจึงทนไม่ได้ต้องขอลาออก ยกเลิกการเทียบวุฒิ ออกมาทำงานอื่นเพราะหมดกำลังใจ

ขอฝากไว้แค่นี้ก่อนนะคะ โอกาสหน้าจะเขียนเพิ่มเติมเรื่องรายได้ว่าเยอะจริงไหม ตอนที่สองค่ะ

รายงานสรุปการประชุมสามัญประจำปี 2020
รายงานสรุปการประชุมสามัญปี 2020.pdf
PDF-Dokument [309.2 KB]
THARA Magazin 2019
THARA_Magazin revised_3.pdf
PDF-Dokument [17.7 MB]
เอกสารเผยแพร่การประชุม สามัญประจำปี 2018
เอกสารเผยแพร่.pdf
PDF-Dokument [2.0 MB]
Thara Magazin 06.06.2018 final.pdf
PDF-Dokument [38.3 MB]
Druckversion | Sitemap
© Thara e.V. 2021